บริษัท แดน ผักกาด จำกัด มีความเชี่ยวชาญในการทำงานทรานสิท และมีลูกค้าใช้งานอย่างต่อเนื่องและบริษัทฯ มี in-Transit license เป็นของเราเองโดยตรงทำให้การประสานงานกับทุกฝ่ายราบรื่น และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างทางโดยไม่คาดคิดได้ทันท่วงที ซึ่งงานทรานสิท (Transit) หรือ การผ่านแดน ซึ่งมีลูกค้าจำนวนมากที่ต้องการขนของผ่านประเทศไทยและปลายทางไปยังอีกประเทศ ภายใต้การควบคุมของศุลกากร โดยของหรือสินค้านั้นจะไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ภายในประเทศ
การถ่ายลำ และ การผ่านแดน คืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร
หลายๆ ท่านอาจจะสับสนระหว่างเรื่องของ "การถ่ายลำ" และ "การผ่านแดน" ว่าการนำสินค้ามาผ่านประเทศไทยก่อนที่จะส่งต่อออกยังนอกประเทศอีกครั้ง แบบไหนคือ การถ่ายลำ และแบบไหนคือการผ่านแดน บทความนี้น่าจะช่วยอธิบายความแตกต่างของการนำสินค้าผ่านแดนทั้ง 2 วิธีนี้คือ
"การถ่ายลำ" (Transshipment) คือ การขนถ่ายสิ่งของจากยานพาหนะหนึ่งที่ขนเข้ามาในประเทศแล้วเปลี่ยนไปเป็นอีกพาหนะหนึ่งที่ขนออกไปนอกประเทศ ภายในท่าหรือที่แห่งเดียวกัน (ภายใต้การควบคุมของศุลกากรในด่านศุลกากรแห่งเดียวกัน) โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการขนส่งอยู่นอกประเทศ โดยของหรือสินค้านั้นจะไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ภายในประเทศ
"การผ่านแดน" (Transit) หมายถึง การขนของผ่านประเทศไทยจากท่า หรือ ด่านศุลกากรแห่งหนึ่งที่ขนส่งเข้ามาไปยังท่า หรือ ด่านอีกแห่งหนึ่งที่ขนส่งของออกไป ภายใต้การควบคุมของศุลกากร โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการขนส่งอยู่นอกประเทศ โดยของหรือสินค้านั้นจะไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ภายในประเทศ แต่สามารถขนถ่ายของเพื่อเปลี่ยนยานพาหนะ หรือ สามารถนำไปเก็บรักษาในคลังสินค้า หรือ มีการเปลี่ยนภาชนะบรรจุของเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง หรือ การเปลี่ยนรูปแบบของการขนส่งสินค้าด้วย
อย่างไรก็ตาม การผ่านแดนทางบกจะทำได้เมื่อมีข้อตกลงระหว่างประเทศเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันไทยได้ทำความตกลงเกี่ยวกับการผ่านแดนอยู่ 2 ความตกลง คือ
1. การผ่านแดนตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลของลาว
2. การผ่านแดนความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมาเลเซีย และกลับกันผ่านแดนไทยโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการถ่ายลำและการผ่านแดน คือ การถ่ายลำนั้นต้องกระทำที่ท่าหรือด่านศุลกากรนั้นเท่านั้น ขณะที่การผ่านแดน มีการขนย้ายสินค้าจากด่านศุลกากรหนึ่งไปยังอีกศุลกากรหนึ่งก่อนจะนำสินค้าออกนอกประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ของสำหรับการถ่ายลำหรือผ่านแดนนั้นจะไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยของต้องห้ามต้องกำกัดในการนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้มีการควบคุมในการนำผ่าน